中文      English       ภาษาไทย      Sitemap
  • cubeRandom

  • block

  • cubeStop

หน้าแรก > ข้อมูลเกี่ยวกับการพิมพ์

ข้อมูลเกี่ยวกับการพิมพ์

ปัจจุบันวิธีการพิมพ์แบ่งเป็น 3 วิธี ได้แก่การพิมพ์แบบสกรีน การพิมพ์เลตเตอร์เพรสส์ การพิมพ์ลิโธกราฟ โดยหลักแล้วบริษัทเราจะทำตามความต้องการของลูกค้าเป็นส่วนใหญ่ แล้วจึงค่อยตัดสินใจเลือกใช้วิธีในการพิมพ์ การพิมพ์เลตเตอร์เพรสส์มีราคาถูกที่สุด ส่วนการพิมพ์ลิโธกราฟจะมีความละเอียดและสวยงามที่สุด สำหรับการพิมพ์แบบสกรีนก็จะเป็นการพิมพ์มีการใช้งานมากที่สุด สติ๊กเกอร์ที่ติดกับกล่องที่มีราคาถูก ส่วนมากจะใช้การพิมพ์เลตเตอร์เพรสส์ เนื่องจากเมื่อใช้งานเสร็จแล้วก็จะถูกทิ้ง แต่ถ้าเป็นการพิมพ์แบบสกรีนจะใช้ในการทำเนมเพลท เพราะเนมเพลทต้องการสีที่พิมพ์ออกมาสม่ำเสมอ ส่วนการพิมพ์ลิโธกราฟ ส่วนมากใช้พิมพ์สติ๊กเกอร์สีสำหรับประเภทอาหารเสริม ยา หรือของขวัญที่ต้องการความสวยงามดึงดูดใจลูกค้าให้ซื้อ ต่อไปจะแนะนำรายละเอียดและความเป็นมาของการพิมพ์ทั้ง 3 อย่าง เป็นข้อมูลทางเลือกสำหรับลูกค้า ว่ามีความต้องการใช้แบบใด

การพิมพ์แบบสกรีน

ลักษณะเฉพาะ

หมึกที่พิมพ์ออกมามีความเข้มข้น สีสม่ำเสมอสดใส สีหมึกไม่ทับซ้อนกัน ดังนั้นเวลาพิมพ์หลายๆสีจะไม่เกิดปัญหาสีซ้อนกัน และหมึกจะติดได้เป็นอย่างดี สามารถใช้กับงานได้หลากหลาย

ลักษณะการใช้งาน

ส่วนใหญ่ใช้ในการผลิตเนมเพลท ฟิล์มติดปุ่มกดและสติ๊กเกอร์แผ่นใหญ่ที่ต้องการสีสม่ำเสมอ

แนะนำความเป็นมา

การพิมพ์สกรีนเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า การพิมพ์แบบลายฉลุ (Stencil) หรือการพิมพ์แบบพอเริส (Porous) เพราะว่านิยมใช้บล็อคผ้าเป็นแม่พิมพ์ ดังนั้นจึงเรียกกันอีกอย่างหนึ่งว่าพิมพ์ซิลด์สกรีน เมื่อก่อนจะใช้วิธีการพิมพ์นี้กับงานศิลปะ แต่ในปัจจุบันใช้ในการพิมพ์สิ่งพิมพ์ต่างๆอย่างแพร่หลาย

การพิมพ์สกรีนคือวิธีการพิมพ์แบบลายฉลุ หรือการพิมพ์แบบพอเริส โดยนำหมึกเทลงบนแผ่นผ้าที่มีรูพรุน ให้หมึกผ่านรูพรุนซึมลงกระดาษที่อยู่ใต้ผ้า ส่วนที่ไม่ต้องการให้เป็นลวดลายก็จะให้เครื่องจักรหรือคนนำแผ่นขี้ผึ้งปิดทับลงไปบนแผ่นผ้าอีกทีหนึ่ง ด้วยเหตุว่าหมึกพิมพ์ซึมผ่านรูพรุนตามแบบที่กำหนดออกมาโดยตรง จึงทำให้สีที่พิมพ์ออกมามีความเข้มข้นกว่าการพิมพ์แบบอื่น สีจึงมีความสวยงาม ส่วนมากใช้ในกับการผลิตเนมเพลทและสิ่งพิมพ์ที่มีขนาดใหญ่ แต่เนื่องจากการเป็นการพิมพ์ที่ต้องให้หมึกซึมผ่านรูพรุนออกมา จึงทำให้ขนาดของจุดหมึกจะใหญ่กว่าการพิมพ์ทั่วไป ความละเอียดก็จะไม่สวยงามเท่ากับการพิมพ์แบบเลตเตอร์เพรสส์ที่ใช้วิธีการพิมพ์แบบสีทับซ้อนกัน

 

การพิมพ์เลตเตอร์เพรสส์

ลักษณะเฉพาะ

หมึกที่พิมพ์ออกมาจะใสไม่ขุ่น สีสวยสดใสและสว่าง สีหมึกสามารถพิมพ์ทับกันได้ เพราะใช้วิธีแกะสลักตัวแม่พิมพ์ออกมาก่อนหลังจากนั้นจึงค่อยพิมพ์บนวัสดุอีกทีหนึ่ง ทำให้ความคมชัดของตัวหนังสือหรือภาพดีกว่าการพิมพ์แบบสกรีน อีกทั้งยังมีต้นทุนที่ถูกกว่าและยังพิมพ์ได้อย่างรวดเร็วอีกด้วย

ลักษณะการใช้งาน

เหมาะกับการพิมพ์สติ๊กเกอร์ วัสดุบรรจุภัณฑ์ คู่มือสินค้า ฉลากควบคุมการเข้าออกของสินค้า ฉลากบาร์โค้ดเป็นต้น

แนะนำความเป็นมา

เพราะมีต้นทุนที่ถูกและพิมพ์ได้อย่างรวดเร็ว จึงเป็นวิธีการพิมพ์ที่นิยมใช้กันมากที่สุด

ในตอนแรกเป็นการแกะสลักหินหรือตราประทับ และนำมาประทับบนเครื่องปั้นดินเผา หรือผ้าต่างๆ
ในสมัยราชวงศ์ฮั่นมีการใช้ตราประทับกันอย่างแพร่หลาย หนังสือทางราชการทุกระดับที่ติดต่อสื่อสารกันต้องมีการประทับตราเพื่อเป็นการตรวจสอบ นี่เป็นวิธีการพิมพ์ขั้นพื้นฐานในสมัยนั้น ต่อมาในสมัยราชวงค์ฮั่น ปีกวงเหอที่หก ได้มีการแกะสลักคัมภีร์บนหิน ตั้งไว้ที่หน้าประตูไท่เสวีย ผู้คนที่ไปเที่ยวชมได้เขียนและคัดลอกนับไม่ถ้วน จึงทำให้มีคนคิดค้นวิธีคัดลอกจากหินแกะสลักนั้น โดยนำกระดาษเปียก วางบนหินที่แกะสลักให้สนิท และรอให้แห้ง หลังจากนั้นจึงค่อยใช้หมึกปาดลงบนกระดาษเพื่อคัดลอกตัวหนังสือหรือภาพ ซึ่งต่อมาได้ค่อยๆ พัฒนาจนกลายมาเป็นวิธีการพิมพ์พื้นนูน ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของการพิมพ์เลตเตอร์เพรสส์ในปัจจุบัน。

การพิมพ์เลตเตอร์เพรสส์นั้นคือการนำเนื้อหาที่ต้องการพิมพ์มาทำเป็นแม่พิมพ์ หลังจากนั้นทาหมึกบนแม่พิมพ์แล้วกดทับลงบนกระดาษอีกที สำหรับในปัจจุบันใช้เครื่องพิมพ์อัตโนมัติ ทำให้สามารถพิมพ์ได้อย่างรวดเร็ว

เนื่องด้วยวิธีการทำแม่พิมพ์และวัสดุที่ใช้ต่างจากการพิมพ์แบบสกรีน และมีต้นทุนที่ถูกกว่าการพิมพ์แบบสกรีน ด้วยวิธีการทำแม่พิมพ์ที่ต่างกันจึงสามารถทำแม่พิมพ์ออกมาได้มีความละเอียดมากกว่าการพิมพ์แบบสกรีน ดังนั้นจึงทำให้สามารถพิมพ์สิ่งพิมพ์ที่มีความละเอียดและมีสีสันหลากหลายซ้อนกันได้ ในปัจจุบันส่วนมากนิยมใช้สำหรับการพิมพ์เครื่องหมายต่างๆ ฉลากยาหรือฉลากอาหาร

 

การพิมพ์ลิโธกราฟ

ลักษณะเฉพาะ

หมึกที่พิมพ์ออกมามีลักษณะคล้ายกับการพิมพ์เลตเตอร์เพรสส์ ที่พิมพ์ออกมาจะใสไม่ขุ่น สีสันหลากหลายและมีความละเอียด สีหมึกสามารถพิมพ์ผสมผสานกันได้ มีความประณีตสูง เลเยอร์ชัดเจน เมื่อพิมพ์สีจะสามารถพิมพ์ออกมามีคุณภาพเทียบเท่ากับภาพถ่าย อีกทั้งยังมีความละเอียดและสมจริงอีกด้วย

ลักษณะการใช้งาน

ส่วนมากใช้กับการพิมพ์ฉลากอาหารเสริม ยา หรือของขวัญและอุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์ที่ต้องการดึงดูดใจลูกค้าในการซื้อ

แนะนำความเป็นมา

ผู้คิดค้นระบบการพิมพ์ลิโธกราฟคืออลัวส์เซเนเฟลเดอร์ คิดค้นเมื่อปี 1798 ซึ่งเป็นระบบการพิมพ์แบบใหม่ที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่ศตวรรษที่15 ที่ได้มีการคิดค้นการพิมพ์แบบเลตเตอร์เพรสส์

ในสมัยแรกๆของการพิมพ์ลิโธกราฟ จะใช้หินปูน (limestone) มาเป็นฐานรับ เลยเป็นที่มาของชื่อว่าการพิมพ์หิน ซึ่งในภาษาอังกฤษเรียกว่า lithography หรือ lithos ที่มาจากภาษากรีกโบราณซึ่งแปลว่าหิน

ในสมัยแรกๆ ของการพิมพ์ลิโธกราฟจะนำภาพต้นฉบับมาเขียนด้วยน้ำมันหรือไขมันลงบนหินแม่พิมพ์ก่อน แล้วใช้สารที่เป็นกรดละลายลงบนผิวหินให้เป็นรูปที่ต้องการหลังจากนั้นจึงใช้กัมอารบิก (Gum arabic) ชนิดเหลวทางลงบนแม่พิมพ์ส่วนที่ไม่ใช่น้ำมันหรือไขมัน หลังจากนั้นจะผนึกแม่พิมพ์เก็บไว้ เมื่อใช้พิมพ์ ส่วนที่เป็นน้ำจะติดบนกัมอารบิกแต่จะไม่ติดกับแม่พิมพ์ส่วนที่เป็นน้ำมัน แต่ในทางกลับกันน้ำมันจะติดบนแม่พิมพ์ในส่วนที่มีน้ำมัน แล้วจึงนำมาพิมพ์ต่อไป

ลักษณะเฉพาะของการพิมพ์ลิโธกราฟก็คือใช้วิธีแยกน้ำมันและน้ำออกจากกันในการพิมพ์ ส่วนที่เป็นลวดลายจะดูดหมึกและแยกน้ำออก ส่วนที่ไม่มีลวดลายก็จะดูดน้ำและแยกหมึกออก ดังนั้นจึงสามารถพิมพ์ออกมาละเอียดกกว่าการพิมพ์แบบเลตเตอร์เพรสส์ ขนาดของความละเอียดจึงเล็กกว่า และเป็นเพราะว่ามีความละเอียดเล็กกว่าจึงทำให้เวลาพิมพ์สีต่างๆเข้าด้วยกันก็จะสวยงามกว่าการพิมพ์แบบเลตเตอร์เพรสส์ และมีคุณภาพเทียบเท่าภาพถ่าย

แต่เพราะมีข้อจำกัดของเครื่องพิมพ์ ในปัจจุบันการพิมพ์ลิโธกราฟจึงพิมพ์ได้ใบต่อใบ ไม่เหมือนการพิมพ์แบบเลตเตอร์เพรสส์ที่สามารถพิมพ์ได้เป็นม้วนๆ และสำหรับบางคนอาจจะเกิดความไม่สะดวกในการใช้งาน เพราะข้อจำกัดของเครื่องที่สามารถทำได้แค่การพิมพ์เพียงอย่างเดียว ไม่สามารถจัดการ การพิมพ์ การเคลือบ การตัดรูปทรงในเครื่องเดียวเหมือนเครื่องพิมพ์แบบเลตเตอร์เพรสส์ได้ ทำให้เมื่อมีความต้องการตัดรูปทรงก็ต้องสั่งทำแม่พิมพ์สำหรับการตัดรูปทรงในกระบวนการผลิตเพิ่มอีก นอกจากนี้กระบวนการผลิตก็ยังเสียเวลามากกว่าวิธีทั่วไป จึงทำให้มีต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าอีกด้วย